Monday, August 27, 2018

พุกาม (Bagan) : ศิลปะต้องมนตร์เสน่ห์ทะเลแห่งเจดีย์

ธนัยนันท์ ศิริเรืองวัฒนา เรียบเรียง 


 💓สวัสดีทุกคนค่ะ กลับมาพบกันอีกแล้วนะคะ ครั้งนี้เราจะพาทุกคนไปสัมผัสกับความงามของ "ทะเลเจดีย์แห่งพุกาม" ที่ตั้งอยู่ในประเทศเมียนมาในปัจจุบัน ซึ่งสถานที่แห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมโบราณที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก และเราจะพาทุกคนมาเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับดินแดนอารยธรรมที่มีเสน่ห์ของศิลปะและอาณาจักรพม่าแห่งนี้กัน ทุกคนพร้อมแล้วใช่ไหมคะ ตามมาดูกันได้เลยค่ะ


ทะเลเจดีย์แห่งพุกาม
http://yesofcorsa.com/bagan-myanmar/

ก่อนอื่นขอเกริ่นที่มาของสถานที่แห่งนี้กันก่อนเลย "ทะเลเจดีย์แห่งพุกาม" แห่งนี้ ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ เมืองพุกาม ประเทศเมียนมา ซึ่งแต่เดิมนั้นเมืองพุกามแห่งนี้อดีตเคยเป็นอาณาจักรพุกามที่รุ่งเรืองในสมัยก่อนเป็นอย่างมาก ที่มาของการสร้างทะเลเจดีย์เหล่านี้คือตั้งแต่สมัยพระเจ้าอนิรุทธิ์ หรือพระเจ้าอโนรธามังช่อ ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรพุกาม ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16 โดยเจดีย์องค์แรกที่ได้ทรงให้สร้างขึ้นนั้นมีชื่อว่า "เจดีย์ชเวซิกอง" เหตุที่สร้างเจดีย์เหล่านี้ขึ้น เป็นเพราะสมัยแรกเริ่มของอาณาจักรพุกาม มีการนับถือพระพุทธศาสนาโดยมีความเชื่อทางไสยศาสตร์ควบคู่กันไปด้วย อีกทั้งหนังสือบางเล่มยังกล่าวว่ามีความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างเจดีย์ว่าจะทำให้ได้รับบุญกุศลเป็นอย่างมาก


ทะเลเจดีย์แห่งพุกาม มีรูปแบบศิลปะเป็นศิลปะแบบพุกาม ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะปาละของอินเดียโดยตรง เพราะมีพื้นที่ติดกับอาณาจักรปาละ-เสนะของอินเดีย แต่ถึงแม้รูปแบบศิลปะพุกามจะมาจากอิทธิพลของศิลปะปาละ แต่ถูกสร้างขึ้นภายใต้พุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งแตกต่างจากศิลปะปาละที่สร้างขึ้นตามพุทธศาสนามหายานตันตระและศาสนาฮินดูไวษณพนิกาย โดยเจดีย์ศิลปะแบบพุกามเหล่านี้แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ เจดีย์ทรงระฆัง (Zedi) และเจติยวิหาร (Gu) โดยมีลักษณะ ดังนี้


เจดีย์ทรงระฆัง (Zedi) เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งสร้างขึ้นให้มีลักษณะและหมายถึง "สถูป" ที่ได้สืบทอดรูปแบบมาจากสถูปทรงกลมของศิลปะอินเดีย ส่วนที่มีความสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของเจดีย์ประเภทนี้คือ "องค์ระฆัง" ที่สร้างอยู่บนฐานสูง 3 ชั้น ยกตัวอย่างเจดีย์ทรงนี้ เช่น เจดีย์ชเวซิกอง ซึ่งเป็นเจดีย์ที่พระเจ้าอโนรธาโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระเขี้ยวแก้ว


    
เจดีย์ชเวซิกอง เป็นเจดีย์ทรงระฆัง
http://www.uasean.com/kerobow01/508
 
เจติยวิหาร (Gu) เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป เสมือนเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า โดยตัวอาคารเป็นการผสมผสานระหว่าง "วิหาร" (ห้องด้านล่าง) กับ "เจดีย์" (ส่วนบน) จึงถูกเรียกลักษณะอาคารแบบนี้ว่า "เจติยวิหาร" โดยส่วนห้องด้านล่างนั้นมีไว้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป และส่วนบนคือส่วนยอด สร้างเป็นทรงศิขระ ประดับส่วนยอดสุดด้วยเจดีย์ โดยรูปแบบของเจติยวิหารในศิลปะพุกาม แบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ ได้แก่ แบบครรภคฤหะ-มณฑป ยกตัวอย่าง เช่น เจดีย์นาคยน และแบบมีแกนกลาง-มณฑป 4 ทิศ เช่น เจดีย์อานันทะ เป็นต้น นอกจากที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้ว ยังมีเจดีย์แบบศิลปะพุกามอีกหลายแห่งที่น่าสนใจ



เจดีย์นาคยน เป็ยเจติยวิหาร ที่มีแผนผังแบบครรภคฤหะ-มณฑป
http://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/architectureth

เจดีย์อานันทะ เป็นเจติยวิหาร แบบมีแกนกลาง-มณฑป 4 ทิศhttp://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/architectureth


ทะเลเจดีย์แห่งนี้นั้นแต่เดิมมีเจดีย์รวมกันมากถึง 4,446 องค์ แต่ปัจจุบันเหลือเจดีย์ที่คงสภาพอยู่เพียง 2,217 องค์ และเนื่องจากการเสื่อมอำนาจของกษัตริย์และการถูกชนชาติอื่นรุกราน ทำให้ปัจจุบันเหลือเจดีย์ที่มีสภาพสมบูรณ์มีจำนวนลดลง แต่ถึงอย่างนั้นปัจจุบันทะเลเจดีย์แห่งพุกามนี้ก็ยังมีเสน่ห์ที่ลึกลับชวนค้นหา โดยสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งบอกความเจริญรุ่งโรจน์ของอาณาจักรพุกามได้เป็นอย่างดี ซึ่งทางการประเทศเมียนมาตอนนี้กำลังดำเนินการเพื่อให้ได้ขึ้นเป็นมรดกโลกต่อไป


ภาพบอลลูนขึ้น จุดน่าสนใจของทะเลเจดีย์
https://www.tickettipper.nl/wp-content/uploads/2018/02/Myanmar

ปัจจุบันมีผู้เดินทางจากทั่วโลกที่ต้องการเดินทางไปท่องเที่ยว แสวงหาความงามศิวิไลของอาณาจักรเก่าแก่โบราณแห่งนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจุดสนใจอีกอย่างของการไปดูทะเลเจดีย์แห่งนี้ก็คือ การได้ขึ้นบอลลูนสัมผัสบรรยากาศเหมือนความฝัน ที่จะพาทุกคนล่องลอยทวนกาลเวลา เที่ยวชมวิวอันงดงามของทะเลเจดีย์แห่งนี้ ใครที่สนใจและกำลังมองหาที่เที่ยวที่ใกล้ประเทศก็ละก็แนะนำสถานที่แห่งนี้เก็บเข้าลิสต์ไว้เลยล่ะค่ะ แพ็คกระเป๋าไปเที่ยวกันเถอะ! แล้วเจอกันต่อกับสถานที่ที่พิเศษในครั้งหน้านะคะ สำหรับครั้งนี้ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาชมมาก ๆ ค่ะ 

  


✈✈✈✈✈✈✈✈✈✈✈✈✈✈✈✈✈✈✈✈✈✈✈✈✈



อ้างอิงข้อมูล : 

บังอร ปิยะพันธุ์. (2537). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (พิมพ์ครั้งที่ 1). (40).

พุกาม. ค้นหาจาก https://th.wikipedia.org/wiki/พุกาม. สืบค้นวันที่ 25 สิงหาคม 2561.

รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี. (2558). ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.
(พิมพ์ครั้งที่ 1). (301-306).

Monday, August 13, 2018

Take my hands and Let's go around this Extra World




ยินดีต้อนรับ และสวัสดีเพื่อน ๆ ทุกคน ที่เข้ามาเยี่ยมชมบล็อกของเรานะคะ บล็อกนี้เราขอแนะนำตัวเองก่อนค่ะ เราชื่อ นางสาวธนัยนันท์ ศิริเรืองวัฒนา หรือจะเรียกว่า "ต้า" ก็ได้ ปัจจุบันเราเป็นนักศึกษา ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น แค่เห็นชื่อสาขาที่เราเรียนก็น่าสนใจแล้วใช่ไหมล่ะคะ สาขาที่เราเรียนอยู่ เป็นสาขาใหม่ที่เพิ่งเปิดหลักสูตรเมื่อไม่นานมานี้ค่ะ แต่ขอบอกว่าวิชาที่ได้เรียนน่าสนใจมาก ๆ ถ้าอยากรู้ว่าเราเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง ติดตามไว้ได้เลยค่ะ


ถ่ายรูปกับคนกลุ่มชาติพันธุ์ขณะเป็นอาสาสมัครที่เวียดนาม
บล็อกของเรานี้ เราจะพาเพื่อน ๆ ทุกคน เข้าสู่โลกของเราค่ะ โลกที่มีสิ่งที่เราสนใจไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลทั่วไปหรือวิชาของสาขาที่เราเรียนอยู่ หนังสือทั่วไป ประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว การเรียนภาษา หากใครที่มีความสนใจเหมือนเราล่ะก็ ติดตามแล้วเข้าสู่โลกเหล่านั้นไปพร้อมกันได้เลย 

โลกที่เราจะพาเพื่อน ๆ ไปสัมผัสในบล็อกนี้นั้น เป็นโลกที่มีมากกว่าหนึ่งมิติ โลกที่จะพาทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องราวหลากสิ่งมหัศจรรย์ที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน โลกที่จะพาทุกคนย้อนเวลากลับสู่อดีต จากการศึกษาประวัติศาสตร์ตามสถานที่สำคัญ ผ่านทางโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่คงไว้ซึ่งหลักฐานทางความเชื่อที่ส่งอิทธิพลมายังปัจจุบัน และโลกของภาษาใหม่ ๆ เนื่องจากเราเคยไปเป็นอาสาสมัครที่ประเทศเวียดนาม ทำให้สามารถสื่อสาร ฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาเวียดนามได้ หากเพื่อน ๆ คนไหนที่สนใจที่อยากจะเรียนภาษาใหม่ ๆ อยู่ล่ะก็ อย่าพลาดเชียวนะคะ 

หมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์เหมียนที่จังหวัดกาวบั่ง ประเทศเวียดนาม
สำหรับครั้งนี้ขอขอบคุณเพื่อน ๆ ทุกคน ที่เข้ามาเยี่ยมชมบล็อกของเรามาก ๆ ค่ะ ไว้เจอกันใหม่ที่บล็อกหน้านะคะ  


เขียนโดย นางสาวธนัยนันท์ ศิริเรืองวัฒนา
ภาพโดย นางสาวธนัยนันท์ ศิริเรืองวัฒนา

วัดเชียงทอง (Xieng Thong Temple) : อัญมณีศิลปะล้านช้างแห่งหลวงพระบาง

สวัสดีค่ะ ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยเลย หวังว่าทุกคนคงจะสบายดีกันนะคะ ครั้งนี้ก็กลับมาพบกันอีกเช่นเคยกับบล็อกที่จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับส...