ประวัติความเป็นมา
พระยม (Yama/Yamarāja) หรือที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักในชื่อ "พระยมราช" นั้น ถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งนรกหรือความตาย ถือกำเนิดขึ้นจากพระอาทิตย์ โดยศาสนาฮินดูในอินเดียเชื่อว่าเป็นเทวดาประจำทิศใต้ แห่งจตุรทิศในศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาทเองก็มีความเชื่ออีกว่าพระยมมีชาติกำเนิดเป็นเทวดา และในศาสนาพุทธฝ่ายมหายานจะรู้จักพระยมในนาม "พญายม" ซึ่งถือว่าเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ที่ทำหน้าที่ในการพิพากษาบาปบุญให้กับเหล่าดวงวิญญาณ
ซึ่งหากจะพูดกันตามจริงแล้ว พระยมนี้ยังมีนามที่ใช้เรียกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีตำนานที่กล่าวถึงมากอีกด้วย ในบางแห่งได้กล่าวว่า ตามตำนานคัมภีร์ฤคเวทซึ่งถือเป็นคัมภีร์เก่าแก่ที่สุดในบรรดาวรรณคดีสันสกฤต และมีความสำคัญในศาสนาฮินดูของอินเดีย ได้เล่าความเชื่อว่าพระยมทรงเป็นมนุษย์คนเเรกที่ตาย และมีน้องสาวฝาแฝดชื่อ ยมี อีกคนหนึ่ง เหล่านักปราชญ์มีความเชื่อว่าสองคนนี้คือมนุษย์ชายหญิงคู่เเรกที่ถือกำเนิดขึ้นมาเเละเสียสละความอมตะเพื่อเป็นเทพเเห่งความตาย เนื่องจากพระยมตายเป็นคนเเรก จึงได้รับบทบาทที่สำคัญหลังความตายให้กลายมาเป็นผู้คุมนรก ได้เป็นผู้ปกครองที่จะคอยต้อนรับเหล่าวิญญาณผู้ล่วงลับอยู่ในดินแดนที่ถูกเรียกว่า "นรกภูมิ"
พระยม พิพากษาเหล่าดวงวิญญาณ ที่มา : http://www.biggyan.org/four-letters-by-yamaraja/ |
ลักษณะเฉพาะ
หากอ้างอิงตามความเชื่อในศาสนาฮินดูแล้วล่ะก็ พระยม ที่รู้จักกันนั้นมีลักษณะร่างกายกำยำ สูงใหญ่ ทรงกระบือเป็นพาหนะ พระหัตถ์ขวาถือคฑาเป็นอาวุธ มีดาวอังคารเป็นดาวประจำองค์ บ้างกล่าวว่าพระยมเป็นเทพที่น่ากลัวเพราะอยู่ประจำที่นรก แต่บ้างก็อ้างจากมหากาพย์เรื่อง มหาภารตะ ว่าจริง ๆ แล้ว พระยมเองก็เป็นเทพที่มีความยุติธรรม
พระยมทรงกระบือพร้อมบริวาร ที่มา : https://ru.wikipedia.org/wiki/Яма_(индуизм) |
งานศิลปะที่ปรากฏ
องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม
ส่วนยอดปราสาททางทิศใต้ของปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมาในประเทศไทย ได้ปรากฏ ภาพพระยมทรงกระบือ ซึ่งเป็นเทพประจำทิศใต้ บนบันแถลงที่ด้านหน้าของช่องวิมานสลักเป็นรูปบุคคลประทับในท่ามหาราชลีลาอยู่บนกระบือ มีหัว 1 หัว แต่มีลำตัวแยกออกซ้าย-ขวา ตั้งอยู่ในตำแหน่งทางทิศใต้เช่นเดียวกัน ซึ่งได้มีการประดับรูปเทพประจำทิศทั้ง 4 ทิศเอาไว้
ส่วนยอดปราสาทประธานด้านทิศใต้ ของปราสาทพิมาย ที่มา : http://www.archae.su.ac.th/art_in_thailand/?q=node/450 |
ประติมากรรม
ภาพแกะสลักพระยมทรงโค ระเบียงปีกตะวันออกทิศใต้ปราสาทนครวัด ที่มา : http://www.thapra.lib.su.ac.th/supatlib/picture2.php?check=country&keyword=5&Page=58 |
พระยมทรงกระบือ ที่มา : http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/khonkaen/ |
พระยมทรงกระบือ เป็นศิลปะรูปแบบเขมรที่ถูกพบในจังหวัดสกลนครของไทย เป็นประติมากรรมหินทรายรูปพระยมทรงกระบือเทพรักษาทิศเบื้องล่าง ทรงประทับนั่งบนหลังเทพพาหนะคือกระบือ สวมศิราภรณ์ทรงมงกุฎ มีกระบังหน้า สวมกุณฑล พาหุรัด และเครื่องประดับอื่นๆ ตัวกระบือ(ควาย) สลักเป็นรูปสัตว์สี่เท้า มีเขา มีหู มีหาง รอบคอตกแต่งด้วยเครื่องประดับโดยรอบ มีลวดลายสลักคล้ายเชือก จากบริเวณจมูกไปถึงด้านหลัง
อ้ า ง อิ ง ที่ ม า :
พระยม. ค้นหาจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/พระยม. สืบค้นวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561.
พิพิธภัฑสถานแห่งชาติ. พระยมทรงกระบือ. ค้นหาจาก : http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/khonkaen/index.php/th/virtual-model-360/93-พระยมทรงกระบือ.html. สืบค้นวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561.
ฐานข้อมูลโบราณสถานสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. ส่วนยอดปราสาทประธานด้านทิศใต้. ค้นหาจาก http://www.archae.su.ac.th/art_in_thailand/?q=node/450. สืบค้นวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561.
ว่าด้วยเรื่องเทพแห่งความตาย พระยมกับฮาเดส เหมือนต่างอย่างไร. ค้นหาจาก https://www.dek-d.com/writer/48362/. สืบค้นวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561.