Saturday, October 20, 2018

บุโรพุทโธ (Borobudur) : พุทธศาสนสถานแห่งศิลปะชวา


สวัสดีค่ะเพื่อน ๆ ทุกคน 💖กลับมาพบกันอีกแล้วนะคะ ช่วงนี้ได้ข่าวว่ากำลังจะเข้าฤดูหนาวแล้ว เพื่อน ๆ รู้สึกยังไงกันบ้างเอ่ย ใกล้ถึงช่วงเวลาที่รอคอยกันแล้วที่จะได้ออกไปเที่ยวในวันหยุดยาว สำหรับครั้งนี้เราก็จะพาเพื่อน ๆ ทุกคนได้เดินทางไปสถานที่แห่งหนึ่งที่ถือว่าน่าสนใจเป็นอย่างมากเลยล่ะค่ะ และเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงเคยได้ยินชื่อกันมาแล้ว แต่ยังไม่ค่อยรู้ที่มาที่ไปกันนัก ถ้าอยากรู้แล้วว่าเป็นที่ไหน ตามมาดูกันได้เลย! Let's go!!! 


                                                                         บุโรพุทโธ
ที่มา : https://www.easyviaggio.com/indonesia/borobudur-6560


สถานที่ที่เราจะพาทุกคนมารู้จักในครั้งนี้ คือ บุโรพุทโธ (Borobudur) นั่นเอง บุโรพุทโธแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าไศเลนทร์ ราว พ.ศ. 1293-1393 โดยโบราณสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในสมัยนั้นมีการเข้ามาของศาสนาพุทธและได้รับอิทธิพลจนทำให้เกิดเป็นศาสนสถานแห่งนี้ขึ้น 


ที่ตั้งของบุโรพุทโธ
ที่มา : https://www.britannica.com/topic/Borobudur/media/74325/138962

บุโรพุทโธตั้งอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย บริเวณภาคกลางของเกาะชวา เมืองมาเกอลัง ซึ่งห่างจากยกยาการ์ตาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 40 กิโลเมตร 


บุโพุทโธที่เป็นฐานขนาดใหญ่ 5 ชั้น
ที่มา : https://www.lonelyplanet.com/indonesia/java/borobudur

รูปแบบทางศิลปะของบุโรพุทโธนั้นเป็นศาสนสถานที่มีขนาดใหญ่ ที่ถูกสร้างด้วยหินภูเขาไฟประมาณ 2 ล้านตารางฟุต แต่ก็มีแผนผังในรูปแบบที่เรียบง่าย เป็นสัดส่วนที่แสดงถึงมณฑลของจักรวาลนั่นเองค่ะ บุโรพุทโธเป็นฐานที่มีความโอฬาร โดยประกอบไปด้วยฐาน 5 ชั้น วงเป็นระเบียง 4 ชั้น และมีเขื่อนกั้นดินวงอยู่ภายนอกอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งระเบียงแต่ละวงมีภาพสลัก โดยความยาวของภาพสลักเหล่านั้นมีทั้งหมดเกือบ 4 กิโลเมตร  


ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=TBpWLFoMqPg

ประติมากรรม บุโพุทโธรูปปั้นพระพุทธรูป 504 องค์ โดมกลางล้อมรอบด้วย 72บนยอดของระเบียงแต่ละชั้น ซึ่งเป็นระพุทธรูปอยู่ในซุ้มแสดงปาง ซึ่งมีความหมายเป็นพระธยานิพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ 4 องค์อยู่ 4 ชั้น คือ พระอักโษภยะปางมารวิชัยทิศตะวันออก พระรัตนสัมภวะปางประทานพรทิศใต้ พระอมิตาภะปางสมาธิทิศตะวันตก และพระอโมฆสิทธะปางประทานอภัยทิศเหนือ ส่วนบนยอดฐานชั้นที่ 5 เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางวิตรรกะ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าอาจหมายถึงพระสมันตภัทรดพธิสัตว์ 


ที่มา : https://www.javaheritagetour.com/sunrise-borobudur-temple-tours-package/

มาเยี่ยมชมกันต่อที่บริเวณบนยอดสุด ซึ่งจะมีลานและสถูปหลายองค์เจาะเป็นรูมีพระพุทธรูปอยู่ภายในซึ่งเป็นลักษณะพิเศษและโดดเด่นมาก ๆ เลยล่ะค่ะ โดยพระพุทธรูปเหล่านั้นแสดงปางประทานปฐมเทศนา คือ พระธยานิพุทธเจ้าไวโรจนะ ส่วนเจดีย์องค์กลางเป็นเจดีย์ทึบซึ่งอาจหมายถึงพระอาทิพุทธเจ้าผู้สร้างโลกหรือพระวัชรสัตว์คือเป็นพระโพธิสัตว์ประจำองค์พระอาทิพุทธเจ้า โดยประติมากรรมทั้งหมดนี้สันนิษฐานได้ว่ามีความหมายเกี่ยวกับจักรวาล 


ที่มา : https://www.tourhq.com/article/ho-w-to-visit-borobudur-temple-correctly

ที่มา : https://www.timetravelturtle.com/borobudur-temple-largest-buddhist-indonesia/

บุโรพุทโธนั้นถือได้ว่าเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าประเทศอินโดนีเซียที่ปัจจุบันนับถือศาสนาอิสลามเป็นหลักนั้น ได้เคยมีการได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธ เราทำให้เราได้เห็นหลักฐานหรือร่องรอยการเผยแพร่เข้ามาของศาสนาพุทธ ทำให้บุโรพุทโธนั้นเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงมากทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเแียงใต้เองและของโลก โดยบุโรพุทโธนั้นเคยรับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยองค์กรยูเนสโก ในปี พ.ศ.2534 


ที่มา : http://nomadicpixel.com/indonesia/photographing-borobudur-in-central-java/

จบไปแล้วนะคะการการพาเพื่อน ๆ ไปเยี่ยมชมบุโรพุทโธ รู้สึกยังไงกันบ้างเอ่ย ส่วนตัวเรารู้สึกทึ่งและรู้สึกดีมาก ๆ เลยค่ะ ที่ได้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ที่คนในอดีตสร้างไว้ เพราะด้วยความเชื่ออะไรก็ดูเกิดขึ้นได้ไปหมด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กน้อย หรือสิ่งที่ใหญ่โตสักแค่ไหน อีกทั้งเรายังได้เห็นร่องรอยหลักฐานความเจริญรุ่งเรืองของศาสนาพุทธที่เข้ามาด้วยล่ะค่ะ น่าสนใจขนาดนี้ หากเพื่อน ๆ คนไหนที่สนใจอยากตามรอยล่ะก็ ลองออกไปสัมผัสกับของจริงกันได้นะคะ ถ้าเราลองออกไปสัมผัสและให้ใจกับสิ่งไหนแล้ว สิ่งนั้นจะให้โอกาสและประสบการณ์แก่เราแน่นอนค่ะ 
ไว้เจอกันครั้งหน้านะคะ ขอบคุณที่ติดตามมาก ๆ ค่ะ 💖





อ้างอิงที่มา

ปัญญา เทพสิงห์. (2548). ศิลปะเอเชีย. (196-199).

โบโรบูดูร์. สืบค้นจาก https://th.wikipedia.org/wiki/โบโรบูดูร์. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2561.

ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศสกุล. (2543). ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง อินเดีย, ลังกา, ชวา, จาม, ขอม, พม่า, ลาว. ศิลปวัฒนธรรม. (163).


Sunday, October 7, 2018

ปราสาทหมีเซิน (My Son Sanctuary) : ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งเวียดนาม



สวัสดีผู้อ่านที่น่ารักทุกคนอีกครั้งค่ะ เป็นยังไงกันบ้างเอ่ยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัปดาห์แห่งการสอบของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย บางคนอาจกำลังรู้สึกเหนื่อย ๆ ขาดแรงบันดาลใจ ขาดแรงในการเรียนบ้างใช่ไหมล่ะคะ อยากออกไปเที่ยวกันแล้วใช่ไหมเอ่ย วันนี้เราจึงอยากมานำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจซึ่งอยู่ใกล้ๆ ประเทศไทยเรานี่เอง ซึ่งจะเป็นที่ไหนนั้น ตามมาดูกันเลย!


       
         ปราสาทหมีเซิน 
                 ที่มา : https://www.mylittleadventure.com/best-things/



ในครั้งนี้เราจะพาทุกคนเดินทางมาที่ "ปราสาทหมีเซิน" กันค่ะ ปราสาทหมีเซินในปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดกว๋างนาม ทางภาคกลางของประเทศเวียดนาม โดยปราสาทหมเซินนั้นถือว่าเป็นปราสาทที่เก่าแก่ที่สุดในศิลปะจาม ถูกสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 13 แต่ในปัจจุบันไม่สามารถระบุลักษณะของปราสาทได้ เนื่องจากเหตุผลที่ว่า องค์ปราสาทที่สร้างด้วยอิฐพังทลายลงไป เหลือแต่ส่วนฐานที่สลักขึ้นจากหินเท่านั้น โดยปัจจุบันมีการนำไปจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม 

ที่มา : https://nomadisbeautiful.com/travel-blogs/my-son-sanctuary-vietnam-tips/

ที่มา : https://nomadisbeautiful.com/travel-blogs/my-son-sanctuary-vietnam-tips/

ภาพสลักที่ฐานของปราสาทหมีเซิน มีลวดลายที่น่าสนใจคือ ลาย "ซุ้มกูฑุ" ซึ่งคาดว่าลวดลายดังกล่าวจำลองมาจากซุ้มประตู-หน้าต่างของปราสาทจริงในสมัยนั้น ซุ้มประตูนี้นั้นได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียอย่างชัดเจน คือ เป็นซุ้มวงโค้งทรงกูฑุเตี้ย ๆ ส่วนปลายกรอบซุ้มเป็นรูปมกรหันหน้าออก แต่สิ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะจาม คือการทำปลายกรอบซุ้มที่มีทั้งม้วนเข้าเป็นรูปนาค และม้วนออกเป็นรูปเลียงผา โผล่ออกมาจากปากมากร 


ที่มา : http://hoianhueprivatecars.com/wp-content/

ความสำคัญของปราสาทหมีเซินนั้นคือ ได้รับลงทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. 2542 อีกทั้งยังถือว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปราสาทหมีเซินนั้นอยู่ในภาคกลางของเวียดนาม นอกจากจะไปชมปราสาทแห่งนี้แล้ว เรายังสามารถเดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งอื่นได้อีกด้วย
เป็นยังไงกันบ้างคะ สถานที่ท่องเที่ยงในครั้งนี้ น่าสนใจกันไหมเอ่ย สำหรับใครที่สนใจหรือว่างเว้นจากการเรียน การทำงาน ต้องการที่จะเดินทางไปศึกษาชมโบราณคดีล่ะก็แนะนำกันเลยล่ะค่ะ สำหรับครั้งนี้ก็จบกันไปแล้วนะคะ ไว้เจอกันในสถานที่ถัดไปค่ะ




อ้างอิงที่มา

บังอร ปิยะพันธุ์. (2537). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (พิมพ์ครั้งที่ 1). (40).

หมีเซิน. ค้นหาจาก https://th.wikipedia.org/wiki/หมีเซิน. สืบค้นวันที่ 
5 ตุลาคม 2561.

รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี. (2558). ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.
(พิมพ์ครั้งที่ 1). (301-306).

ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศสกุล. (2543). ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง อินเดีย, ลังกา, ชวา, จาม, ขอม, พม่า, ลาว. ศิลปวัฒนธรรม. (163).



วัดเชียงทอง (Xieng Thong Temple) : อัญมณีศิลปะล้านช้างแห่งหลวงพระบาง

สวัสดีค่ะ ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยเลย หวังว่าทุกคนคงจะสบายดีกันนะคะ ครั้งนี้ก็กลับมาพบกันอีกเช่นเคยกับบล็อกที่จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับส...